จาระบี (Grease) คือ ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นที่มีลักษณะกึ่งของแข็งและกึ่งของเหลว ซึ่งเป็นส่วนผสมของน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน สารเพิ่มคุณภาพทางเคมีและสบู่ โดยน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานที่ใช้ทำจาระบีมักเป็นพวกที่มีดัชนีความหนืดสูง เพื่อให้สามารถใช้ได้ทั้งอุณหภูมิสูงและต่ำในบางที่ที่ไม่สามารถใช้น้ำมันหล่อลื่นได้ เช่น แบริ่งหรือลูกปืนบางชนิด ลูกหมากปีกนก คันชักคันส่ง หูแหนบ ฯลฯ เพราะอาจเกิดปัญหาเรื่องการรั่วไหล ฝุ่นหรือสิ่งสกปรกแทรกเข้าไปเจือปน ฯลฯ ทำให้การหล่อลื่นไม่ได้ผล จึงจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นอื่นที่มีสภาพความคงตัว และมีคุณสมบัติในการจับติดขึ้นส่วนที่ต้องการได้ดีกว่าน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งก็คือ จาระบี
การใช้จาระบี (Grease) อาจมีข้อเสียอยู่บ้าง คือ ระบายความร้อนได้น้อยกว่าน้ำมันและถ้าใช้มากไปจะทำให้สกปรก ส่วนข้อดีคือ จาระบีสามารถทำหน้าที่เป็นซีลหรือปิดช่องว่างได้ดีและอายุการใช้งานนาน
คุณสมบัติของจาระบี ประเภทและวิธีการเลือกใช้
ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ คุณสมบัติของจาระบี (Grease) และวิธีการเลือกใช้จาระบีว่าเลือกใช้อย่างไร จาระบี (Grease) ที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมีอยู่หลายประเภท ควรเลือกใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับการใช้งานดังนี้
ความอ่อนแข็ง (Consistency)
ความอ่อนหรือแข็งของจาระบี วัดได้โดยการปล่อยให้เครื่องมือรูปกรวยปลายแหลมจมลงในเนื้อจาระบี (Grease) ที่อุณหภูมิ 25°C เป็นเวลา 5 วินาที และวัดความลึกเป็น 1/10 ของมิลลิเมตร ถ้ากรวยจมลงได้ลึกมากก็แสดงว่าจาระบีอ่อนมาก สถาบันจาระบีในสหรัฐฯ (National Lubricating Grease Institute ชื่อย่อ NLGI) ได้กำหนดเบอร์ของจาระบี (Grease) ไว้ดังนี้
เบอร์จาระบี จะแสดงว่าเมื่อเบอร์จาระบีสูงขึ้น จาระบีจะมีสภาพแข็งขึ้น ส่วนระยะจมนั้นแสดงถึงความลึกของกรวยที่จมลงในจาระบี ถ้าระยะจมมาก แดสงว่าจาระบีมีสภาพอ่อนนิ่มกว่าระยะจมน้อย ความอ่อนแข็งของจาระบีขึ้นกับเปอร์เซนต์ของสบู่และความหนืดของน้ำมันพื้นฐาน
จุดหยด (Drop Point)
จุดหยดคือ อุณหภูมิที่จาระบีหมดความคงตัว กลายเป็นของเหลวจนไหลออก ดังนั้นจุดหยด จึงเป็นจุดบ่งบอกถึงอุณหภูมิสูงสุดที่จาระบีทนได้ โดยทั่วไปอุณหภูมิใช้งานจะต่ำกว่าจุดหยด 40° – 65°C การใช้จาระบีในที่อุณหภูมิสูงๆจึงต้องพิจารณาถึงจุดหยดด้วย
สารเพิ่มคุณภาพ (Additives)
สารเคมีเพิ่มคุณภาพที่ผสมลงในจาระบี จะมีผลต่อสภาพการใช้งาน ได้แก่ สารรับแรงกดแรงกระแทก (Extreme Pressure หรือ EP) สารป้องกันสนิมและกัดกร่อน เป็นต้น ถ้าจาระบีใช้ในงานพิเศษบางชนิดอาจผสมสารหล่อลื่นอื่นลงไปด้วย เช่น โมลิบดีนั่ม ไดซัลไฟต์ หรือ กราไฟต์
การเลือกใช้จาระบี
จาระบีที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมีอยู่หลายประเภท ควรเลือกใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับการใช้งานดังนี้
สัมผัสกับน้ำและความชื้นหรือไม่
ถ้าสัมผัสหรือเกี่ยวข้องต้องเลือกใช้จาระบีประเภททนน้ำ ถ้าเลือกใช้ผิดประเภท จาระบีจะถูกดูดความชื้นหรือน้ำ ทำให้เยิ้มหลุดออกจากจุดหล่อลื่นได้
อุณหภูมิใช้งานสูงมากน้อยแค่ไหน
จุดใช้งานที่อุณหภูมิสูงกว่า80°Cควรเลือกใช้จาระบีประเภททนความร้อน ถ้าเลือกใช้ไม่ถูกต้อง จาระบีจะเยิ้มเหลวไหลทะลักออกมาจากจุดหล่อลื่น
ในกรณีที่สัมผัสทั้งน้ำและความร้อน
ควรเลือกใช้จาระบีประเภทอเนกประสงค์ (Multipurpose)คุณภาพดี หรือ จาระบีคอมเพล็กซ์(Complex)ซึ่งราคาย่อมแพงกว่าจาระบีประเภททนน้ำหรือความร้อนเพียงอย่างเดียว
มีแรงกดแรงกระแทกระหว่างการใช้งาน
ถ้ามีมากควรพิจารณาเลือกใช้จาระบีประเภทผสมสารรับแรงกดแรงกระแทก (EP Additives)
สภาพแวดล้อมทั่วไป
เช่น ถ้ามีฝุ่นละอองและสกปรกหรืออุณหภูมิสูงมาก จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ต้องอัดจาระบีบ่อยครั้งขึ้น
การเลือกใช้เบอร์จาระบี
วิธีการนำจาระบีไปใช้งานซึ่งมีอยู่หลายแบบถ้าเป็นระบบแบบจุดจ่ายกลาง (Centralized System) ที่ใช้ปั๊มป้อนจาระบีไปยังจุดที่ใช้หล่อลื่นต่าง ๆ ก็ควรใช้จาระบีอ่อน หรือ เบอร์0 หรือเบอร์1 ถ้าอัดด้วยมือหรือปืนอัด อาจใช้เบอร์2 หรือเบอร์3 หรือแข็งกว่านี้ ถ้าป้ายหรือทาด้วยมือความอ่อนแข็งไม่สำคัญมากนัก นอกจากนั้นถ้าเป็นพวกกระปุกเฟืองเกียร์ที่ใช้จาระบีหล่อลื่น ก็ควรใช้จาระบีประเภทอ่อน คือเบอร์0 หรือเบอร์1
ประเภทและชนิดของจาระบี
จาระบีที่มีใช้ และมีการผลิตมาใช้ในทุกวันนี้แบ่งออกได้เป็นหลายชนิด และที่รวบรวมมาได้ในที่นี้ประกอบไปด้วย 5 ชนิดหลัก ได้แก่
จาระบีแคลเซียม (Calcium Grease)
หรือจาระบีปูนขาวเป็นจาระบีที่มีความไวต่ออุณหภูมิในจุดที่จะทำให้เกิดการระเหยได้
จาระบีโซเดียม (Sodium Grease)
ใช้ในงานที่มีอุณหภูมิสูง สามารถละลายน้ำได้ง่าย จึงมีการผสมด้วย Metal Soaps อย่างเช่นแคลเซียมเพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการต้านทานน้ำ เหมาะกับการใช้งานที่ต้องการความทนทานและต้องการคุณสมบัติในการซีล เช่นในการใช้ในมอเตอร์ไฟฟ้า
จาระบีอะลูมินัม (Aluminum Grease)
เป็นจาระบีที่มีความหนืดสูง เนื้อสารจะมีความเหนียวมาก มีความน้านทานน้ำสูง ยึดติดได้ดี ยับยั้งสนิมได้ดีโดยไม่ต้องเติมสารใดเพิ่ม แต่จาระบีประเภทนี้จะมีอายุการใช้งานที่สั้น
จาระบีลิเธียม (Lithium Grease)
มีด้วยกัน 2 รูปแบบ แบบผิวเนยซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันมาก สามารถใช้งานในบริเวณที่อุณหภูมิสูงสุดถึง 135 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังนำไปใช้ในอุณหภูมิต่ำได้ถึงระดับ -35 องศาเซลเซียส มีเสถียรภาพที่ดีต่อการตัดเฉือนและมีค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทานต่ำ เหมาะกับการใช้งานในเครื่องจักรที่มีความเร็วสูง
จาระบีชนิดอื่น ๆ (Other Grease)